Last updated: 28 เม.ย 2567 | 74740 จำนวนผู้เข้าชม |
ชนิดน้ำสลัดต่อไปนี้จะแบ่งไปตามชื่อของน้ำสลัดที่เป็นที่นิยม เรียกตามความถนัดให้ตรงตามความเข้าใจในประเทศไทย ซึ่งบางครั้งจะแยกเป็นชื่อส่วนประกอบหลัก หรือในบางครั้งอาจจะเรียกตามการนำไปใช้งาน
เมล็ดงาเป็นสิ่งที่มีน้ำมันในตัวสูง แล้วยังอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยกลิ่นรสของงาจะถูกจัดกลุ่มว่ามีความคล้ายพืชจำพวกถั่ว เมล็ดงานี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารกันมากในแถบทวีปเอเชีย แต่ก็มีการใช้งานในหลาย ๆ พื้นที่อีกด้วย ซึ่งการใช้งานสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านความร้อนเช่น การบดละเอียดให้ได้มาเป็นครีมงา (tahini) เพื่อนำไปปรุงอาหารต่อเช่น น้ำสลัดครีมงา (tahini dressing) หรือจะนำไปคั่วผ่านความร้อนก่อนใช้เพื่อให้กลิ่นรสงามีความเด่นชัดขึ้นก็ได้ เมื่อพูดถึงน้ำสลัดงาที่หอมงาคั่ว (sesame dressing) ส่วนใหญ่ก็จะมีสองแบบเด่น ๆ คือ น้ำสลัดงาน้ำใส และน้ำสลัดงาข้นแบบครีม สิ่งที่เหมือนกันทั้งแบบน้ำใสและแบบครีมคือจะต้องมีงาคั่วเป็นองค์ประกอบ อาจจะใส่ตั้งแต่เมื่อเป็นน้ำสลัดหรือเป็นการใส่งาคั่วโรยตอนอยู่ในเมนูสลัดที่ใช้น้ำสลัดงาก็ได้ และอีกสิ่งที่จะให้สัญลักษณ์ความเป็นน้ำสลัดงาก็คือโชยุ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลาย ๆ ครั้งคนก็จะเรียกรวม ๆ ไปเลยว่าน้ำสลัดงาคือน้ำสลัดญี่ปุ่น หรือน้ำสลัดซีอิ๊วญี่ปุ่น อย่างน้ำสลัดงาข้นในบางครั้งก็จะมีชื่อเรียกว่าน้ำสลัดครีมญี่ปุ่น เพราะมีซีอิ๊วญี่ปุ่นหรือโชยุนี้เป็นส่วนประกอบ ส่วนสิ่งที่ต่างกันของน้ำสลัดงาน้ำใสและน้ำสลัดงาข้นคือ การใส่มายองเนสหรือบางสูตรก็จะใส่ไข่แดงลงไป เพื่อให้มีลักษณะเป็นน้ำสลัดครีม
น้ำสลัดงาน้ำใส แม้จะดูมีหน้าตาคล้ายกันคือมีลักษณะใสแยกชั้นแล้วมีงาลอยอยู่เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วน้ำสลัดนี้มีหลากหลายสูตร ซึ่งแต่ละสูตรก็จะมีความต่างกันไปในเรื่องส่วนประกอบที่อาจจะมีการเพิ่มลดส่วนผสมต่างกันไป
สูตรในการทำน้ำสลัดงาน้ำใส แบบที่ 1 เป็นสูตรที่มีส่วนผสมไม่มาก สามารถทำตามได้ง่าย มีส่วนประกอบดังนี้
1. โชยุ 1 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1 ช้อนโต๊ะ
4.น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
5.น้ำมันงา 2 ช้อนชา
6.งาคั่ว ส่วนนี้อาจใส่ตอนอยู่ในเมนูหรือใส่ผสมไปในน้ำสลัดด้วยก็ได้
วิธีทำ
นำส่วนผสมทุกอย่างมาตีผสมกัน เทราดลงบนผักสลัดที่หั่นเตรียมไว้แล้วเรียบร้อยพร้อมรับประทาน
สูตรในการทำน้ำสลัดงาน้ำใส แบบที่ 2 เป็นสูตรที่มีการใส่น้ำส้มสายชูบัลซามิกและวาซาบิเพิ่มลงไป เป็นการผสมผสานสูตรน้ำสลัดเพื่อให้มีความอร่อย ซ่า สดชื่นมากขึ้น ซึ่งส่วนประกอบมีดังนี้
1.โชยุ 2 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำส้มสายชูบัลซามิก 3 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ
4.น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
5.งาขาวคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
6.วาซาบิ 1 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทุกอย่างมาตีผสมกัน เทราดลงบนผักสลัดที่หั่นเตรียมไว้แล้วเรียบร้อยพร้อมรับประทาน
สูตรในการทำน้ำสลัดงาน้ำใส แบบที่ 3 เป็นสูตรพิเศษที่ไม่มีการใส่น้ำมัน และมีการใส่ส่วนผสมพิเศษเพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อนขึ้นอย่างขิงฝนละเอียด และหวานกลมกล่อมมากขึ้นด้วยมิรินที่เป็นเหล้าหวานของญี่ปุ่น สูตรที่ทำมีส่วนประกอบดังนี้
1.โชยุ 2 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
3. น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนโต๊ะ
4.มิริน 2 ช้อนโต๊ะ
5.งาขาวคั่วบดพอประมาณ
6.ขิงฝนละเอียด
วิธีทำ
1.นำหม้อมา ใส่โชยุ น้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย และมิรินลงไป คนให้เข้ากัน แล้วนำไปตั้งไฟ
2.พอเดือดแล้วให้นำออกมาจากเตาเทขิงฝนละเอียดและงาลงไปผสม คนให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จสิ้นพร้อมรับประทาน
น้ำสลัดงาที่ทำมาจากงาคั่วนั้นไม่ได้มีเพียงชนิดน้ำใส เพราะมีน้ำสลัดงาแบบครีมด้วยซึ่งก็จะมีหลากหลายสูตรเช่นเดียวกัน
สูตรในการทำน้ำสลัดงาข้นแบบครีม แบบที่ 1 เป็นสูตรที่ใส่ไข่แดงเพื่อให้เกิดเป็นอิมัลชัน น้ำสลัดงาข้น โดยส่วนผสมที่ใช้มีดังนี้
1.โชยุ 1 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำส้มสายชู 2½ ช้อนโต๊ะ
3. น้ำมันมะกอก 1/2 ถ้วยตวง
4.น้ำมันงา 1/2 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำเชื่อม 1½ ช้อนโต๊ะ
6.ไข่แดง 1 ฟอง
7.งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทุกอย่างมาตีผสมกัน นำมาใส่ภาชนะแล้วโรยด้วยงาขาวคั่ว พร้อมเสิร์ฟ
สูตรในการทำน้ำสลัดงาข้นแบบครีม แบบที่ 2 เป็นสูตรที่ใช้มายองเนสในการทำให้เกิดเป็นน้ำสลัดเนื้อครีม และมีการใช้เป็นงาดำคั่ว ซึ่งในบางครั้งก็จะถูกเรียกเป็นน้ำสลัดงาดำ ส่วนประกอบมีดังนี้
1.น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล 3 ช้อนโต๊ะ
2.มายองเนส 3 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
4.เกลือ 1/4 ช้อนชา
5.กระเทียมปอกเปลือกตำละเอียด 1 กลีบใหญ่
6.งาดำคั่วบดหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน เทราดน้ำสลัดที่ได้ลงบนผักสลัดที่หั่นเตรียมไว้แล้วเรียบร้อยพร้อมรับประทาน
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสูตรเกี่ยวกับน้ำสลัดงาที่ใช้งาคั่วเป็นส่วนผสมทั้งน้ำสลัดงาน้ำใสและน้ำสลัดงาข้น ต่อมาจะเป็นรายละเอียดข้อมูลน้ำสลัดครีมงาที่มีงาบดละเอียดไม่ผ่านการคั่วมาเป็นส่วนประกอบเรียกว่า น้ำสลัดครีมงา (tahini dressing) ชื่อ tahini นั้นมาจากภาษาอาหรับที่แปลว่าเมล็ดงาบด ซึ่ง tahini ก็คือ ครีมงาที่ได้มาจากงาไม่ผ่านกรรมวิธีให้ความร้อนใด ๆ มาบดละเอียด สามารถนำไปปรุงต่อเป็นอาหารได้หลายเมนู หนึ่งในนั้นก็คือมาทำเป็นน้ำสลัด ด้วยการใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่มเติมลงไป เช่น น้ำมะนาว และเมเปิ้ลไซรัป ความแตกต่างระหว่างงาคั่วและงาไม่คั่วนั้นมีหลายส่วน เช่น กลิ่นรสที่ได้ สำหรับครีมงาที่งาไม่ได้ผ่านการคั่วนั้นจะทำให้ได้กลิ่นรสที่อ่อนกว่าและมีความขมปลายนิด ๆ และอีกอย่างที่ต่างกันคือพื้นที่ที่นิยมใช้ งาคั่วมักถูกใช้งานในการประกอบอาหารแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารจีน และอาหารญี่ปุ่น ส่วนครีมงาที่ไม่ผ่านการคั่วจะนิยมใช้ในอาหารแถบเมดิเตอเรเนียน และตะวันออกกลาง
ผลิตภัณฑ์จากงาอย่างเช่น ครีมงา (tahini) นี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ทานอาหารวีแกน ผู้ที่แพ้นม ผู้ที่แพ้กลูเตน และผู้ที่แพ้ถั่ว เนื่องจากครีมงาไม่มีส่วนที่มีผลทำให้แพ้ที่กล่าวมาข้างต้น และข้อดีอีกอย่างของครีมงาคือจะมีกลิ่นรสคล้ายถั่ว นั่นหมายความว่าครีมงาก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้ทดแทนถั่วได้ แต่ในการเลือกทานอาหารที่ใช้ครีมงาอาจจะต้องระวังเพราะในแต่ละมื้ออาหารอาจมีการนำครีมงาไปปรุงอาหารที่มีส่วนผสมที่ทำให้แพ้แฝงตัวอยู่ได้
สูตรในการทำน้ำสลัดครีมงา (tahini dressing) ตัวอย่างสูตรนี้เป็นสูตรที่มีความข้นจากครีมงาแทนการใส่น้ำมัน และเปรี้ยวหวานสดชื่นจากน้ำมะนาวและเมเปิ้ลไซรัป สามารถใช้ได้ทั้งเป็นน้ำสลัด หรือไส้แซนด์วิช วัตถุดิบที่ใช้มีดังนี้
1.ครีมงา (tahini) 1/3 ถ้วย
2.น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
3.เมเปิ้ลไซรัป 1-2 ช้อนโต๊ะ
4.เกลือ 1 หยิบมือ
5.น้ำเปล่า
6.กระเทียมสับละเอียด 1 กลีบ ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
วิธีทำ
1.นำครีมงา น้ำมะนาว เมเปิ้ลไซรัป เกลือ และกระเทียมลงไปในชามผสม และคนให้เข้ากัน
2.ในระหว่างผสมหากพบว่าหนืดเกินไปให้ค่อย ๆ เติมน้ำเปล่าขณะตีเพื่อให้ได้ความหนืดตามต้องการ
3.ปรุงรสชาติให้ได้ตามที่ต้องการ หากต้องการความเปรี้ยวให้ใส่น้ำมะนาวเพิ่ม หากต้องการความหวานให้ใส่เมเปิ้ลไซรัป และถ้าอยากให้มีความเค็มเพิ่มมาให้ใส่เกลือลงไป
4. นำไปรับประทานไปหรือถ้าอยากเก็บไว้ก่อนสามารถแช่ตู้เย็นไว้ได้ประมาณ 5 วัน
น้ำสลัดบัลซามิกก็คือ น้ำสลัดที่มีส่วนผสมในส่วนของน้ำส้มสายชูเป็นน้ำส้มสายชูบัลซามิก ซึ่งน้ำส้มสายชูบัลซามิกนั้นจะแตกต่างจากน้ำส้มสายชูทั่วไปคือ มีสีดำ กลิ่นรสอมหวาน มีความเปรี้ยวน้อยกว่าน้อยกว่าน้ำส้มสายชูปกติ แต่มีความเข้นข้น สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายเมนู
น้ำส้มสายชูบัลซามิกมีประวัติความเป็นมายาวนานโดยต้องมองย้อนกลับไปถึงช่วงยุคกลาง ซึ่งก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน หากจะจำแนกน้ำส้มสายชูบัลซามิกสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือแบบที่เป็นดั้งเดิม และแบบเพื่อการค้าที่ไม่ดั้งเดิมแต่อาจได้แรงบันดาลใจมาจากแบบดั้งเดิม
น้ำส้มสายชูบัลซามิกแบบดั้งเดิมจะมีการผลิตที่ใช้เพียงน้ำองุ่นใส่ในถังไม้เท่านั้น จะไม่ใส่อะไรเพิ่มเติม แล้วก็รอเวลาหมักระยะเวลา 12 ไปจนถึง 25 ปี ซึ่งการใช้ถังไม้ในการหมักนั้นก็มีผลต่อลักษณะน้ำส้มสายชูบัลซามิกที่ได้เพราะโดยธรรมชาติแล้วในไม้ก็จะมีรูพรุนเล็ก ๆ ที่ทำให้น้ำส้มสายชูบัลซามิกสูญเสียความชื้นไปตามเวลา สุดท้ายก็จะได้เป็นน้ำส้มสายชูที่มีความเข้มข้นขึ้น การสูญเสียความชื้นเพราะถังไม้นี้เองทำให้การเลือกชนิดของไม้มาทำถังหมักก็จะมีผลต่อลักษณะสุดท้ายของน้ำส้มสายชูที่ได้เช่นกัน เพราะเนื้อไม้แต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันไปลักษณะรูพรุนของไม้ก็ต่างกัน สำหรับน้ำส้มสายชูบัลซามิกดั้งเดิมนี้มีด้วยกันสองแหล่งคือที่เมือง Modena และเมือง Reggio แต่ทั้งคู่ต่างก็เป็นเมืองที่อยู่ในประเทศอิตาลี และทั้งคู่ต่างก็เป็นน้ำส้มสายชูฉบับดั้งเดิมเหมือนกัน ซึ่งการมีอยู่ของน้ำส้มบัลซามิกดั้งเดิมทั้งสองยี่ห้อจากทั้งสองเมืองนี้มีความจริงจังถึงขั้นมีข้อกำหนดของรูปร่างขวด ปริมาตรขวด และระยะเวลาการหมักว่า จะต้องบรรจุขวด 100 มิลลิลิตรและขายแบบที่หมักอย่างน้อย 12 ปี เพราะแบบที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมก็จะมีข้อกำหนดที่ต่างออกไปในเรื่องวิธีการหมักและระยะเวลาการหมัก และแบบที่ไม่ใช่ดั้งเดิมก็ไม่สามารถนำเรื่องระยะเวลาการหมักมาติดฉลากแอบอ้างว่าจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
น้ำส้มสายชูบัลซามิกเพื่อการค้าชนิดที่ได้แรงบันดาลใจจากแบบดั้งเดิม ที่แม้จะไม่ใช่แบบดั้งเดิมแต่ก็มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติตามเพื่อจะได้ติดฉลากว่า “Balsamic Vinegar of Modena” ซึ่งข้อกำหนดที่ต้องทำตามนั้นก็คือ สามารถต้มน้ำองุ่นเพื่อทำให้เข้มข้นขึ้นได้ สามารถใส่ไวน์ลงไปในขั้นตอนหมักน้ำองุ่นได้ สามารถใส่คาราเมลจากน้ำตาลได้ และมีระยะเวลาการหมักตามกำหนด ซึ่งในแต่ละข้อกำหนดก็จะมีตัวเลขที่เป็นรายละเอียดลงลึกลงไปอีก ซึ่งข้อกำหนดที่กล่าวมานี้ถ้าสามารถทำตามได้ก็จะได้รับฉลากที่กล่าวไว้ แต่ถ้าไม่ทำตามก็จะไม่ได้รับฉลากแต่ก็สามารถนำออกมาขายได้ทั่วไปเช่นกัน ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นการแต่งสีเลียนแบบกลิ่นเพื่อให้ได้เป็นน้ำส้มสายชูที่คล้ายน้ำส้มสายชูบัลซามิกจากอิตาลีที่สุด
เมื่อได้รู้รายละเอียดคร่าว ๆ ของน้ำส้มสายชูบัลซามิกแล้ว ต่อมาก็จะมาดูว่าน้ำส้มสายชูบัลซามิกสามารถนำมาใช้รังสรรค์เมนูใดได้บ้าง ซึ่งจะพบว่าสามารถนำไปทำได้ทั้งอาหารคาวหวาน ตัวอย่างก็คือ การนำไปทำเป็นน้ำสลัด ทำซอสหมัก นำไปราดบนผลไม้ หรือแม้กระทั่งราดไอศกรีม
สูตรในการทำน้ำสลัดบัลซามิก ส่วนใหญ่สูตรน้ำสลัดชนิดนี้จะเป็นสูตรน้ำสลัดไม่มีน้ำตาล แต่ใส่เป็นน้ำผึ้งลงไปเพียงเล็กน้อยแทน เนื่องจากตัวน้ำส้มสายชูบัลซามิกเองนั้นไม่ได้มีความเปรี้ยวฉุนนำเหมือนอย่างน้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้ทั่วไป แต่ยังมีความละมุนอมหวานอยู่ด้วยทำให้ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลเพิ่มลงไปในสูตร ตัวอย่างส่วนผสมที่ใช้ในการทำมีดังนี้
1.น้ำส้มสายชูบัลซามิก 1/4 ถ้วย
2.น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1/4 ถ้วย กับอีก 2 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา
4.กระเทียมบดละเอียด 1 กลีบ
5.มัสตาร์ด 2 ช้อนชา
6.เกลือ 1/2 ช้อนชา
7.พริกไทยดำป่น
วิธีทำ
1.ผสมน้ำส้มสายชูบัลซามิก น้ำผึ้ง กระเทียมบดละเอียด มัสตาร์ด เกลือ และพริกไทยดำป่น ลงในชามผสม
2. ค่อย ๆ เทน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ลงไปผสมที่ละนิด ตีคนให้เข้ากัน
3.เทน้ำสลัดที่ผสมเข้ากันแล้วลงในภาชนะบรรจุปิดฝาให้สนิทแล้วเขย่าก่อนการเทเพื่อใช้งาน
น้ำสลัดซีซาร์เป็นน้ำสลัดที่มีสีขาวครีมมีรสชาติออกไปทางเค็ม ๆ มัน ๆ ซึ่งส่วนประกอบที่มีความพิเศษที่เพิ่มมาก็คือ พาเมซานชีส ปลาแอนโชวี่ที่เป็นปลาร้าของอิตาลี และมีการใส่ซอสวูสเตอร์ (worcestershire sauce) ซอสจากประเทศอังกฤษ
ซอสวูสเตอร์เป็นซอสหมักที่มีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู หอมใหญ่ กระเทียม มะขามเปียก เกลือ น้ำตาล และปลาแอนโชวี่หมักรวมกัน และมีเครื่องเทศอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่น เมล็ดมัสตาร์ด เปลือกส้ม หรือพริกไทย เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นซอสวูสเตอร์นี้เป็นซอสที่มีปลาแอนโชวี่อยู่ แสดงว่าซอสนี้ก็จะคล้าย ๆ น้ำปลาแต่เป็นน้ำปลาแบบฉบับที่มีการหมักส่วนผสมอื่นซึ่งอาจทำให้ความเค็มและกลิ่นปลาจะไม่รุนแรงเท่าน้ำปลาที่ใช้ปลาในการหมักอย่างเดียว ซอสนี้จะมีความเด่นในเรื่องความหวานเค็มและรสชาติอูมามินัว ๆ (umami)
สูตรในการทำน้ำสลัดซีซาร์ แบบที่ 1 เป็นสูตรที่ใส่ครบทั้งปลาแอนโชวี่ ซอสวูสเตอร์ และพาเมซานชีส วัตถุดิบที่ใช้มีดังนี้
1.ไข่แดงไข่ไก่ 1 ฟอง
2.น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
3.ชิ้นปลาแอนโชวี่เลาะก้างแล้ว 2-6 ชิ้น
4.ซอสวูสเตอร์ 1 ช้อนชา
5.กระเทียมบดละเอียด 2 ช้อนชา
6.พาเมซานชีสขูดแล้ว 1/4 ถ้วย
7.น้ำมันคาโนล่า 1/3 ถ้วย
8.น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1/4 ถ้วย
9.เกลือ
10.พริกไทยดำป่น
วิธีทำ
1. ผสมไข่แดง น้ำมะนาว ชิ้นปลาแอนโชวี่ ซอสวูสเตอร์ กระเทีนม และพาเมซานชีสขูดเข้าด้วยกัน โดยอาจใช้เป็นเครื่องปั่นเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันดี
2.ค่อย ๆ ใส่น้ำมันคาโนล่า ลงไปปั่นตามด้วยน้ำมันมะกอก
3.ใส่เครื่องปรุงที่เตรียมไว้ทั้งเกลือและพริกไทยดำป่นเพื่อให้ได้รสชาติตามต้องการ ปั่นให้ผสมกันดี
4.สามารถนำไปรับประทานคู่กับสลัดได้ทันที หรือจะเทใส่ลงในภาชนะบรรจุสะอาดปิดสนิทแล้วนำไปแช่ก็เย็นก็สามารถเก็บได้ประมาณ 5 วัน
สูตรในการทำน้ำสลัดซีซาร์ แบบที่ 2 เป็นสูตรสำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นและความเค็มจากปลาแอนโชวี่ที่ชัดเกินไป หรือก็คือไม่ต้องการใส่เนื้อปลาแอนโชวี่ แต่จะใช้ซอสวูสเตอร์ที่อาจจะเป็นแบบมีหรือไม่มีปลาแอนโชวี่เป็นส่วนประกอบก็ได้แล้วแต่ความต้องการ และจะใช้น้ำสลัดครีมธรรมดาหรือมายองเนสเป็นตัวยืนพื้นในการทำน้ำสลัด ส่วนผสมที่ใช้มีดังนี้
1.มายองเนส 1/2 ถ้วย
2.กระเทียมบดละเอียด 3 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
4.มัสตาร์ด 1 ช้อนชา
5.ซอสวูสเตอร์ 1/2 ช้อนชา
6.เกลือ 1/8 ช้อนชา
7.พาเมซานชีสขูด 1/3 ถ้วย
8.น้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ
9.พริกไทยดำป่น
วิธีทำ
1.ผสมมายองเนส กระเทียมบดละเอียด น้ำมะนาว มัสตาร์ด ซอสวูสเตอร์ และเกลือเข้าด้วยกัน
2.นำพาเมซานชีสขูดและน้ำเปล่าลงไปคนผสม จากนั้นปรุงรสด้วยพริกไทยดำป่น และอาจเพิ่มส่วนผสมที่มีอยู่อย่างซอสวูสเตอร์หรือน้ำมะนาวเพิ่มลงไปนิดหน่อยหากต้องการให้ได้รสชาติที่เข้มข้นมากขึ้น
3.เสร็จเรียบร้อย พร้อมนำไปใส่สลัด
ชื่อน้ำสลัดเทาซันไอแลนด์นี้มาจากแหล่งกำเนิดของน้ำสลัด นั่นก็คือ หมู่เกาะเทาซันด์ (Thousand Island) ที่อยู่ระหว่างรัฐนิวยอร์กของประเทศสหรัฐอเมริกา และรัฐออนแทรีโอประเทศแคนาดา น้ำสลัดเทาซันไอแลนด์มีลักษณะเป็นครีมสีชมพูอมส้มอ่อน ๆ มีความครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เป็นที่นิยมใช้ได้หลายเมนูทั้งใส่ในสลัด เป็นซอสจิ้ม ใช้เป็นซอสราดเบอร์เกอร์ หรือไส้แซนด์วิช ความครบรสของน้ำสลัดนี้ก็เกิดมาจากองค์ประกอบอย่างมายองเนส และซอสมะเขือเทศ และบางสูตรก็จะมีองค์ประกอบเสริมความอร่อยอย่าง แตงกวาดองสับ ซาวครีม กระเทียม หอมแดง ซอสพริก หรือน้ำส้มสายชู
สูตรในการทำน้ำสลัดเทาซันไอแลนด์ แบบที่ 1 เป็นการใส่ส่วนผสมหลักคือมายองเนสเป็นตัวยืนพื้น และใส่ซอสมะเขือเทศ แล้วในสูตรนี้จะไม่มีการใส่น้ำมันพืชเพิ่ม และไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไปอีกด้วย แต่จะใช้ความหวานจากผงพริกปาปริก้าชนิดหวานและแตงกวาดองชนิดหวานแทน ส่วนผสมทั้งหมดที่ใช้มีดังนี้
1.มายองเนส 1 ถ้วย
2.หอมใหญ่สับ 1/4 ถ้วย
3.ซอสมะเขือเทศ 2 ช้อนโต๊ะ
4.แตงกวาดองชนิดหวานสับ 2 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
6.ผงพริกปาปริก้าชนิดหวาน 1/2 ช้อนชา
7.เกลือ 1/4 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน สามารถนำไปรับประทานได้เลย หรือถ้าอยากให้อร่อยมากขึ้นจะต้องรอให้ส่วนผสมเข้ากันดีก่อนโดยการเก็บไว้ก่อน 24 ชั่วโมงค่อยใช้งาน หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์
สูตรในการทำน้ำสลัดเทาซันไอแลนด์ แบบที่ 2 เป็นการยืนพื้นด้วยมายองเนส เพิ่มความเปรี้ยว ๆ มัน ๆ ด้วยซาวครีม ซึ่งสูตรมีส่วนประกอบดังนี้
1.มายองเนส 1/2 ถ้วย
2.ซาวครีม 1/4 ถ้วย
3.ซอสมะเขือเทศ
4.แตงกวาดองชนิดหวานสับ 2 ช้อนโต๊ะ
5.หอมแดงสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
6.น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ
7.น้ำตาล 2½ ช้อนชา
8.กระเทียมบดละเอียด 1 กลีบ
9.เกลือ
10.พริกไทยป่น
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน สามารถนำไปรับประทานได้เลย หรือถ้าอยากให้อร่อยมากขึ้นจะต้องรอให้ส่วนผสมเข้ากันดีก่อนโดยการเก็บไว้ก่อน 24 ชั่วโมงค่อยใช้งาน หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์
น้ำสลัดฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมนั้นจะเป็นแบบใส วัตถุดิบที่ใช้จะเป็นน้ำส้มสายชู และน้ำมันธรรมดาทั่วไป แล้วก็มีชื่อเรียกเป็น French vinaigrette แต่ต่อมาเมื่อมีการประยุกต์ดัดแปลงเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำสลัดฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรูปลักษณ์และรสชาติไป กลายเป็น French dressing ที่มีสีส้มออกแดง รสชาติมีความเผ็ดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีมะเขือเทศและผงพริกปาปริก้าเพิ่มมาในส่วนผสมนี้ทางกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ต้องใส่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้อกำหนดนี้ก็ถูกยกเลิกไปและให้อิสระแก่ผู้ผลิตในการทำ French dressing ออกขายโดยไม่ได้จำกัดวัตถุดิบแบบเมื่อก่อน
เมื่อสังเกตที่ส่วนผสมของน้ำสลัดเทาซันไอแลนด์และ French dressing จะพบว่ามีการใส่ซอสมะเขือเทศเหมือนกัน แต่น้ำสลัดทั้งสองนี้มีความต่างกันเมื่อมองลึกไปถึงแหล่งกำเนิด และส่วนผสมที่เป็นรายละเอียด น้ำสลัดเทาซันไอแลนด์จะมีส่วนประกอบหลัก ๆ คือซอสมะเขือเทศ มายองเนส แตงกวาดองชนิดหวาน หอมกระเทียมสับละเอียด และน้ำส้มสายชู เป็นต้น แต่ French dressing จะมีส่วนผสมหลักคือ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ น้ำส้มสายชู มัสตาร์ด ซอสมะเขือเทศ น้ำตาล และปาปริก้า ทำให้น้ำสลัดทั้งสองมีรสชาติที่ต่างกัน
สูตรในการทำน้ำสลัดฝรั่งเศส หรือ French dressing แบบที่ 1 เป็นสูตรที่มีการใส่มายองเนสเพื่อให้ได้เป็นน้ำสลัดที่มีความข้นเป็นเนื้อครีม และมีสีส้มออกแดงเด่นชัดจากการใส่ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์แดง และผงพริกปาปริก้า ส่วนผสมที่ใช้มีดังนี้
1.ซอสมะเขือเทศ 2/3 ถ้วย
2.หอมใหญ่สับละเอียด 1/2 ถ้วย
3.มายองเนส 1/2 ถ้วย
4.น้ำส้มสายชูหมักไวน์แดง 1/3 ถ้วย
5.น้ำตาล 1/3 ถ้วย
6.ซอสวูสเตอร์ 1 ช้อนชา
7.ผงปาปริก้า 1 ช้อนชา
8.ผงกระเทียม 1/2 ช้อนชา
9.เกลือ 1/2 ช้อนชา
10. น้ำมันพืช 1/2 ถ้วย
วิธีทำ
1.นำซอสมะเขือเทศ หอมใหญ่ มายองเนส น้ำส้มสายชู น้ำตาล ซอสวูสเตอร์ ผงพริกปาปริก้า ผงกระเทียม และเกลือลงไปในเครื่องปั่น ปั่นผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2.ขณะที่ปั่นให้ค่อย ๆ เทน้ำมันพืชที่เตรียมไว้ใส่ลงไปช้า ๆ
3.เมื่อเสร็จแล้วสามารถนำไปใช้ทานคู่สลัดได้เลย หรือใส่ในภาชนะบรรจุสะอาดปิดสนิทแช่ไว้ในตู้เย็นเก็บไว้ใช้ได้ประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์
สูตรในการทำน้ำสลัดฝรั่งเศส หรือ French dressing แบบที่ 2 เป็นสูตรที่ให้สีส้มออกแดงเช่นกัน แต่จะไม่มีความเป็นเนื้อครีมเท่ากับสูตรแรก ส่วนผสมอย่างละเอียดมีดังนี้
1.น้ำมันพืช 1/2 ถ้วย
2.ซอสมะเขือเทศ 1/4 ถ้วย
3.น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล 3 ช้อนโต๊ะ
4.น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
5.ผงพริกปาปริก้า 1/2 ช้อนชา
6.ผงหอมใหญ่ 1/2 ช้อนชา
7.เกลือ 1/4 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาปั่นผสมให้เข้ากัน หรือถ้าไม่มีเครื่องปั่นสามารถใส่ส่วนผสมทั้งหมดลงในขวดแก้วที่จะเป็นภาชนะที่ใช้เก็บน้ำสลัด ปิดฝาแล้วเขย่าก็ได้ จากนั้นสามารถนำไปรับประทานได้เลย และหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์
น้ำสลัดชนิดนี้ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นจากผู้อพพยย้ายประเทศชาวอิตาลีที่ย้ายมาอยู่รัฐแมสซาชูเซตส์ประเทศสหรัฐอเมริกา การเริ่มต้นคิดค้นสูตรน้ำสลัดนี้เป็นการพัฒนาจาก vinaigrette ที่เป็นน้ำมันพืชผสมกับน้ำส้มสายชูธรรมดา ให้มีกลิ่นรสพิเศษมากขึ้นด้วยการเติม สมุนไพรอย่างออริกาโน่ เฟนเนลหรือผักชีล้อม และกระเทียม รูปลักษณ์สุดท้ายของน้ำสลัดชนิดนี้จึงจะพบว่าเป็นน้ำสลัดน้ำใสที่มีพืชสมุนไพรชนิดเล็ก ๆ ลอยอยู่ทั่ว แต่ในบางสูตรก็จะพบว่ามีการใส่วัตถุดิบอื่นที่ทำให้กลายเป็นน้ำสลัดสีขาวทึบแสงได้เช่นกัน
น้ำสลัดอิตาเลียนสามารถนำไปราดบนสลัดผักสด ผักที่ผ่านการย่าง หรือราดบนพาสต้าชนิดเย็นที่เน้นผักก็จะเพิ่มความอร่อยสดชื่นให้มื้ออาหารได้ดี
สูตรในการทำน้ำสลัดอิตาเลียน หรือ Italian dressing แบบที่ 1 เป็นสูตรที่จะได้เป็นน้ำสลัดน้ำใส ซึ่งส่วนประกอบก็จะมีรายละเอียดดังนี้
1.น้ำมันมะกอก 1/2 ถ้วย กับอีก 1 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์แดง 1/4 ถ้วย
3.น้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ
4.โหระพาฝรั่งอบแห้ง (dried basil) 1 ช้อนชา
5.ผงกระเทียม 1 ช้อนชา
6.ออริกาโนอบแห้ง 1/2 ช้อนชา
7.ผงหอมหัวใหญ่ 1/2 ช้อนชา
8.เกลือ 1/2 ช้อนชา
9.น้ำตาล 3/4 ช้อนชา
10. พริกป่นหยาบ 1 หยิบมือ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดเทใส่ในขวดแก้วที่จะเป็นภาชนะที่ใช้เก็บน้ำสลัด ปิดฝาแล้วเขย่า จากนั้นสามารถนำไปรับประทานได้เลย และหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ และก่อนการใช้งานจะต้องเขย่าก่อนทุกครั้ง
สูตรในการทำน้ำสลัดอิตาเลียน หรือ Italian dressing แบบที่ 2 เป็นสูตรที่มีการใส่มายองเนส และพาเมซานชีสขูดเพิ่มจากสูตรปกติ เพื่อให้มีสีที่นวลขึ้น ส่วนผสมอย่างละเอียดมีดังนี้
1.น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1/2 ถ้วย
2.น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์ขาว 3 ช้อนโต๊ะ
3.พาเมซานชีสขูด 1/4 ถ้วย
4.มายองเนส 1 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำตาล 1 ช้อนชา
6.กระเทียมบดละเอียด 1 กลีบ
7. ออริกาโนอบแห้ง 1/2 ช้อนชา
8.ผักชีฝรั่งอบแห้ง (dried parsley) 1/2 ช้อนชา
9.โหระพาฝรั่งอบแห้ง (dried basil) 1/2 ช้อนชา
10. เกลือ 3/4 ช้อนชา
11. พริกไทยดำป่น 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดเทใส่ในขวดแก้วที่จะเป็นภาชนะที่ใช้เก็บน้ำสลัด ปิดฝาแล้วเขย่า จากนั้นลองชิมสามารถเพิ่มเติมเครื่องปรุงได้ตามต้องการ และนำไปรับประทานได้เลย และหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ และก่อนการใช้งานจะต้องเขย่าก่อนทุกครั้ง
น้ำสลัด Ranch หรือก็คือน้ำสลัดแรนช์ เป็นน้ำสลัดที่มีลักษณะเป็นครีมสีขาว เป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา การนำไปใช้จะเป็นเมนูสลัด ซอสจิ้มพิซซ่า ของทอดต่าง ๆ สิ่งที่โดดเด่นในน้ำสลัดนี้คือรสชาติมัน ๆ เค็ม ๆ ของผลิตภัณฑ์จากน้ำนมอย่างบัตเตอร์มิลค์ (buttermilk) และซาวครีม นอกจากนั้นก็มีมายองเนส และสมุนไพรต่าง ๆ อยู่ในน้ำสลัด Ranch ด้วย
สูตรในการทำน้ำสลัด Ranch แบบที่ 1 เป็นสูตรที่ใช้สมุนไพรแบบแห้งเพื่อง่ายต่อการหาและสามารถเก็บวัตถุดิบไปใช้ทำได้หลายครั้ง วัตถุดิบที่ใช้ได้แก่
1. มายองเนส 1/2 ถ้วย
2.ซาวครีม 1/2 ถ้วย
3.บัตเตอร์มิลค์ หรือถ้าไม่มีให้ใช้น้ำนมปกติ 1/2 ถ้วย
4.ผักชีลาวฝรั่งอบแห้ง (dried dill weed) 1 ช้อนชา
5.ผักชีฝรั่งอบแห้ง (dried parsley) 1/2 ช้อนชา
6.ต้นหอมฝรั่งอบแห้ง (dried chives) 1/2 ช้อนชา
7.ผงหอมหัวใหญ่ 1/4 ช้อนชา
8.ผงกระเทียม 1/2 ช้อนชา
9.เกลือ 1/4 ช้อนชา
10. พริกไทยป่น 1/8 ช้อนชา
11. น้ำมะนาว 1-3 ช้อนชา (เติมในปริมาณตามต้องการ)
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน เป็นอันเสร็จสิ้นสามารถนำไปรับประทานได้เลย หากจะเก็บต้องใส่ในภาชนะบรรจุสะอาดปิดสนิทและไว้ในตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์
สูตรในการทำน้ำสลัด Ranch แบบที่ 2 เป็นสูตรที่ลดไขมันลงโดยเปลี่ยนจากซาวครีมมาใช้เป็นกรีกโยเกิร์ตไร้ไขมันแทน และไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเพื่อสุขภาพที่ดี วัตถุดิบมีดังนี้
1.บัตเตอร์มิลค์ 3/4 ถ้วย
2. กรีกโยเกิร์ตไร้ไขมัน 1/4 ถ้วย
3.มายองเนส 2 ช้อนโต๊ะ
4.ผักชีฝรั่งอบแห้ง (dried parsley) 1 ช้อนโต๊ะ
5.ต้นหอมฝรั่งอบแห้ง (dried chives) 1 ช้อนชา
6.ผักชีลาวฝรั่งอบแห้ง (dried dill weed) 1/4 ช้อนชา
7.ผงกระเทียม 1/2 ช้อนชา
8.เกลือ 1/2 ช้อนชา
9.พริกไทยป่น 1/8 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน เป็นอันเสร็จสิ้นสามารถนำไปรับประทานได้เลย หากจะเก็บต้องใส่ในภาชนะบรรจุสะอาดปิดสนิทและไว้ในตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์
เป็นน้ำสลัดที่ส่วนประกอบหลักคือบลูชีส จึงทำให้มีกลิ่นเฉพาะตัวจากบลูชีสออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นความชอบเฉพาะบุคคล นอกจากกลิ่นแล้วก็มีรสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ มีความอมเปรี้ยวนิดหน่อย ลักษณะค่อนข้างข้นหนืด ทำให้นอกจากจะเป็นน้ำสลัดแล้วก็ยังสามารถนำไปทำเป็นซอสจิ้มได้อีกด้วย นอกจากจะใส่บลูชีสเป็นหลักแล้วก็ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อย่างเช่นมายองเนส โยเกิร์ต ซาวครีม และ ผักชีฝรั่ง (parsley)
สูตรในการทำน้ำสลัดบลูชีส แบบที่ 1 เป็นสูตรที่เน้นความมันเนื่องจากมีการใส่ซาวครีมซึ่งก็คือครีมที่ผ่านการหมักทำให้มีรสเปรี้ยว และดับเบิ้ลครีม (heavy cream) ซึ่งจะคล้ายวิปครีมแต่มีปริมาณไขมันที่สูงกว่า และมีมายองเนส และซอสวูสเตอร์เพิ่มมา สูตรที่ใช้มีรายละเอียดวัตถุดิบดังนี้
1.มายองเนส 3/4 ถ้วย
2.ซาวครีม 1/4 ถ้วย
3.ซอสวูสเตอร์ 1 ช้อนชา
4.น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ
6.ต้นหอมฝรั่ง (chives) สับ 2 ช้อนโต๊ะ
7.ดับเบิ้ลครีม (heavy cream) 1 ช้อนโต๊ะ
8.บลูชีสทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ 4 ออนซ์หรือประมาณ 2/3 ถ้วย
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน สามารถนำไปรับประทานได้เลย หรือถ้าอยากให้อร่อยมากขึ้นจะต้องรอให้ส่วนผสมเข้ากันดีก่อนยิ่งนานยิ่งอร่อยมากขึ้น และหากจะเก็บต้องใส่ในภาชนะบรรจุสะอาดปิดสนิทและไว้ในตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณสองสัปดาห์
สูตรในการทำน้ำสลัดบลูชีส แบบที่ 2 เป็นสูตรที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม และปริมาณไขมันจะน้อยลงเนื่องจากเปลี่ยนจากซาวครีมและดับเบิ้ลครีม เป็นการใช้โยเกิร์ตรสธรรมดาแทน มีส่วนผสมมีดังนี้
1.บลูชีสทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1/2 ถ้วย
2.มายองเนส 1/4 ถ้วย
3.โยเกิร์ตรสธรรมดา 1 ถ้วย
4. ผักชีฝรั่ง (parsley) สับ 2 ช้อนโต๊ะ
5. กระเทียมบดละเอียด 1 กลีบ
6.น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
7.เกลือ 1/4 ช้อนชา
8.พริกไทยดำป่น 1/4 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน รอให้ส่วนผสมเข้ากันดีก่อนประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนนำไปใช้งาน
น้ำสลัดซีฟู้ด อาจถูกเรียกเป็น น้ำสลัดครีมซีฟู้ด หรือน้ำสลัดโรล ซึ่งก็คือน้ำจิ้มซีฟู้ดที่มีความละมุนเพิ่มขึ้นมา ทำให้รสชาติไม่แหลมจนเกินไปทั้งความเค็มและความเปรี้ยว ลักษณะปรากฏก็จะเป็นสีเขียวครีม ในเรื่องส่วนประกอบนั้นแต่ละสูตรจะคล้ายกันก็คือมีน้ำจิ้มซีฟู้ดผสมกันกับมายองเนสหรือสลัดครีม ส่วนที่ต่างกันในแต่ละตำราก็จะเป็นส่วนของน้ำจิ้มซีฟู้ดที่อาจมีการใช้ปริมาณของกระเทียม พริก น้ำมะนาว น้ำปลา และน้ำตาลที่ต่างกัน และในบางสูตรก็มีการเพิ่มเติมวัตถุดิบอย่างรากผักชีและใบโหระพาเพื่อเพิ่มความหอมด้วย
สูตรในการทำน้ำสลัดซีฟู้ด เป็นสูตรที่มีการใส่ใบโหระพาและผักชีเพิ่มความหอม โดยรายละเอียดสูตรมีดังนี้
1.มายองเนส 150 กรัม หรือประมาณ 3/4 ถ้วย
2.กระเทียมกลีบเล็ก 5 กลีบ
3.พริกขี้หนูสวน 8-10 เม็ด
4. ผักชี 1 ช้อนโต๊ะ
5.โหระพา 3 ใบ
6.น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
7.น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
8.น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
9.เกลือ 1 หยิบมือ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน แล้วนำไปใช้งานรับประทานคู่สลัดได้เลย
ก็คือแบบน้ำใสและแบบครีม ถ้าเป็นน้ำสลัดวาซาบิน้ำใส จะมีส่วนผสมหลัก ๆ คือน้ำส้มสายชู โชยุ น้ำตาล น้ำมันงา และวาซาบิ แต่ถ้าเป็นแบบครีมจะมีส่วนผสมหลักเป็นมายองเนส น้ำส้มสายชู น้ำตาล โชยุ และวาซาบิ ทำให้สุดท้ายทางรสชาติและลักษณะปรากฏของน้ำสลัดวาซาบิจะแตกต่างกัน
สูตรในการทำน้ำสลัดวาซาบิน้ำใส เป็นสูตรที่ใช้ส่วนผสมไม่ซับซ้อนสามารถทำตามได้ง่าย รายละเอียดวัตถุดิบมีดังนี้
1.โชยุ 1 ช้อนชา
2.วาซาบิ 1 ช้อนชา
3.น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์ข้าว 3 ช้อนโต๊ะ
4.น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำมันงา 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน แล้วนำไปใช้งานได้เลย หรือถ้าอยากให้ได้ความสดชื่นมากขึ้นให้นำไปแช่เย็นก่อนการทานคู่สลัด
สูตรในการทำน้ำสลัดครีมวาซาบิ เป็นสูตรที่ใช้ส่วนผสมหลักเป็นมายองเนสเพื่อเพิ่มให้มีความละมุนมากขึ้นในทางรสชาติและลักษณะปรากฏ โดยจะไม่มีการใส่น้ำมันเพิ่มเพราะตัวมายองเนสเองก็มีความมันอยู่แล้ว นอกจากนั้นสูตรนี้ยังเป็นการใช้น้ำผึ้งแทนการใส่น้ำตาลด้วย รายละเอียดสูตรมีดังนี้
1.มายองเนส 1/2 ถ้วย
2.น้ำส้มสายชูหมักจากข้าว 2 ช้อนโต๊ะ
3.โชยุ 1 ช้อนโต๊ะ
4.วาซาบิ 2 ช้อนชา
5.น้ำผึ้ง 2 ช้อนชา
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดตีผสมกัน แล้วนำไปใช้งานได้เลย หรือถ้าอยากให้ได้ความสดชื่นมากขึ้นและวัตถุดิบผสมผสานกันได้ดีมากขึ้น ให้นำไปแช่เย็นเพื่อพักน้ำสลัดก่อนการทานคู่สลัด
แซนด์วิชโบราณนั้นเป็นที่นิยมกันในประเทศไทยกันมายาวนาน ส่วนใหญ่แล้วไส้จะเป็นหมูหยอง และในหลาย ๆ สูตรก็จะมีโบโลน่ามาคู่กับหมูหยองด้วย รสชาติน้ำสลัดในแซนด์วิชโบราณจะเด่นในเรื่องความหวานมันลักษณะปรากฏจะเป็นลักณะสีเหลือง ออกโปร่งแสงค่อนไปทางทึบแสง ไม่ใสแยกแบบน้ำสลัดใส มีความหนืดพอที่จะปาดไปบนขนมปังได้ สูตรที่ทำนั้นมีหลากหลาย ทั้งแบบที่ใส่ไข่แดง และไม่ใส่ไข่แดงแล้วใส่เป็นมายองเนสแทนเพราะในมายองเนสก็มีไข่แดงอยู่แล้ว หรือบางสูตรก็จะใส่ทั้งไข่แดงทั้งมายองเนสไปเลย แต่สุดท้ายแต่ละสูตรจะมีความคล้ายกันทางเรื่องรสชาติหวานมัน และลักษณะสีเหลืองเนื้อข้นทาขนมปังได้
สูตรในการทำน้ำสลัดแซนด์วิชโบราณ แบบที่ 1 เป็นสูตรที่ใช้กันทั่วไป เป็นแบบใส่ทั้งมายองเนส ไข่แดง ซึ่งสูตรมีวัตถุดิบดังนี้
1.น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
2.น้ำมันรำข้าว 3/4 ถ้วย
3.มายองเนส 1/2 ถ้วย
4.น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
5.นมข้นหวาน 1/3 ถ้วย
6.ไข่แดงไข่ไก่ 2 ฟอง
7.เกลือ 1/4 ช้อนชา
8.พริกไทยขาวป่น 1 ช้อนชา
วิธีทำ
1.ผสมน้ำตาลและไข่แดงในชามผสม
2.เทนมข้นหวานและมายองเนสลงไป คนผสมให้เข้ากัน
3.นำไปตุ๋นประมาณ 5-7 นาที ให้อุ่นพอประมาณ
4.ยกออกจากเตาแล้วนำมาใส่พริกไทยขาวป่น และน้ำมัน คนผสมให้เข้ากัน
5.เมื่อผสมเสร็จก็ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นลงก่อนก็ได้เป็นน้ำสลัดสำหรับแซนด์วิชโบราณที่พร้อมนำไปใช้งาน โดยนำไปทาขนมปังใส่หมูหยองได้ตามต้องการ
สูตรในการทำน้ำสลัดแซนด์วิชโบราณ แบบที่ 2 เป็นสูตรที่ใส่มายองเนสแบบไม่ใส่ไข่แดงเพิ่ม และไม่ใส่น้ำมันแต่ใช้เป็นเนยเค็มละลายแทน วัตถุดิบที่ใช้มีดังนี้
1.เนยเค็มละลาย 250 กรัม
2.นมข้นหวาน 6 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
4.มายองเนส 6 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำเปล่า เติมเพื่อให้น้ำสลัดไม่ข้นเกินไป
วิธีทำ
1. ผสมมายองเนส นมข้นหวานและน้ำตาลให้เข้ากันในชามผสม
2. ใส่เนยเค็มละลายลงไปทีละนิด ตีผสมให้เข้ากัน
3.หากพบว่าหนืดเกินไปสามารถใช้ใช้น้ำอุณหภูมิห้องผสมลงไปได้
4. ได้เป็นน้ำสลัดสำหรับแซนด์วิชโบราณพร้อมนำไปใช้งานต่อ
16 พ.ย. 2566
31 ส.ค. 2566
29 ส.ค. 2566